เลือกภาษา    
ติดต่อสอบถาม 074-801900
233 ซอย 8 ถนนแสงศรี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
เวลาเปิดบริการ
เปิดบริการทุกวัน 24 ชั่วโมง

รู้จักกับโรคชิคุนกุนยาที่กำลังระบาดในเวลานี้

นอกจากไข้เลือดออกแล้ว โรคที่ต้องเฝ้าระวังอีกโรคก็คือ โรคชิคุนกุนยา ที่สร้างความปวดเมื่อยตามข้อ และกินเวลาในการป่วยนานนับเดือน เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าคุณหมอได้แนะนำเกี่ยวกับโรคนี้อย่างไรบ้าง

โรคติดเชื้อชิคุนกุนยา เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ ชิคุนกุนยาไวรัส ติดต่อมาสู่คนโดยการถูกยุงลายกัด โดย (ยุงลายเป็นพาหะที่นำโรคมาสู่คน 2 โรคที่สำคัญ คือ โรคไข้เลือดออก และ โรคติดเชื้อชิคุนกุนยา) ระยะฟักตัวของโรคติดเชื้อชิคุนกุนยา คือ 2 – 5 วัน

โรคชิคุนกุนยา แตกต่างจากไข้เลือดออกอย่างไร

  1. โรคชิคุนกุนยา จะไม่มีเกร็ดเลือดต่ำอย่างมากจนมีเลือดออกรุนแรงอย่างโรคไข้เลือดออก
  2. โรคชิคุนกุนยา จะไม่มีผนังเส้นเลือดฝอยผิดปกติอย่างมากจนมีสารน้ำรั่วจากเส้นเลือดอย่างรุนแรง จนความดันโลหิตต่ำ จนช็อค อย่างโรคไข้เลือดออก
  3.  โรคชิคุนกุนยา จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างโรคไข้เลือดออก แต่อาจปวดตามข้อทรมาน หลายเดือนได้

เมื่อผู้ป่วยถูกยุงลายที่มีเชื้อชิคุนกุนยาไวรัส กัด จะมีระยะฟักตัวของโรค 2 – 5 วัน และเมื่อครบระยะฟักตัว ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงเริ่มจาก

  • มีไข้สูง อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ประมาณ 2 วัน หลังจากนั้น ไข้จะลงอย่างรวดเร็ว
  • ผิวหนังจะมีสีแดงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเส้นเลือดฝอยในชั้นผิวหนังมีการขยายตัว
  • มีผื่นแดงเล็กๆ ตามตัว หรือบางครั้งอาจมีผื่นแดงเล็ก ๆ ตามแขนขาได้ 
  • มีอาการปวดตามข้อ และมักมีอาการปวดหลายข้อพร้อมกัน

นอกจากนั้น อาจมีอาการป่วยซึ่งไม่ใช่อาการเฉพาะของการติดเชื้อชิคุนกุนยา เช่น ปวดศีรษะ เยื่อบุตาแดง รวมทั้งอาการอื่น ๆ เช่น อาการปวดข้อ ปวดศีรษะ นอนไม่ค่อยหลับ
อาการเหล่านี้ อาจคงอยู่ยาวนานในผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน ส่วนอาการปวดข้อ มักจะเป็นอยู่นาน บางรายอาจนานถึง 2 ปี

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคชิคุนกุนยา
การวินิจฉัยที่ดีที่สุด คือ จะต้องมีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย ซึ่งมีหลายวิธี เช่น

  • การเพาะเชื้อไวรัสจากเลือดผู้ป่วย โดยที่แพทย์จะเจาะเลือดผู้ป่วย ส่งเพาะหาเชื้อไวรัส หากเพาะได้เชื้อไวรัสโรคชิคุนกุนยา ก็จะวินิจฉัยได้แน่นอน แต่เนื่องจากโอกาสเพาะเชื้อได้ต่ำ จึงไม่นิยมทำ
  • การตรวจโดยใช้วิธี PCR จากเลือดผู้ป่วย โดยที่แพทย์จะเจาะเลือดผู้ป่วย ส่งให้ห้องปฏิบัติการ ใช้วิธี PCR เพื่อตรวจหาชิ้นส่วนของเชื้อไวรัสโรคชิคุนกุนยา
  • การตรวจซีโรโลยี่ จากเลือดผู้ป่วย โดยที่แพทย์จะจะเจาะเลือดผู้ป่วย ส่งให้ห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาโปรตีนของร่างกายที่มีการสร้างขึ้น หลังจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสโรคชิคุนกุนยา และโปรตีนนั้นเป็นโปรตีนที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสโรคชิคุนกุนยา

ห่างไกลจากโรคนี้ได้โดย...
ป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด เป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด ทำได้โดย นอนกางมุ้ง หรือ นอนในห้องมีมุ้งลวด นอกจากนี้ การใส่เสื้อแขนยาว ใช้ยาทากันยุง จะช่วยป้องกันการถูกยุงกัดได้ดี หรือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น กำจัดหลุมบ่อที่อาจมีน้ำขัง และเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุง

ถ้าเป็นโรคชิคุนกุนยาแล้ว รักษาอย่างไร
เนื่องจากไม่มียาเฉพาะสำหรับการรักษาผู้ติดเชื้อชิคุนกุนยา การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เพื่อลดอาการของผู้ป่วย เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด เพื่อลดไข้ ลดอาการปวดตามข้อ ถึงแม้ผู้ป่วยจะไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่อาการปวดข้ออาจคงอยู่เป็นเวลาหลายสัปดาห์ หลายเดือน ซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยได้

 เนื่องจากยุงลายสามารถนำโรคได้ทั้ง ไข้เลือดออก และ โรคชิคุนกุนยา ดังนั้น การดูแลตนเอง เพื่อให้พ้นจากการถูกยุงลายกัดก็จะช่วยป้องกันการป่วยได้ทั้งไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อชิคุนกุนยา  
 การนอนในมุ้ง การอยู่ในห้องที่มีมุ้งลวด การใช้ยาทากันยุง การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงภายในบ้านและรอบบ้าน เป็นมาตรการที่สำคัญในการป้องกันโรคที่นำพาโดยยุงครับ

บทความโดย: รศ.นพ.วินัย  รัตนสุวรรณ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์: http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=955

14 ส.ค. 2561      11,362
แชร์บทความ:  
  

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ