เลือกภาษา    
ติดต่อสอบถาม 074-801900
233 ซอย 8 ถนนแสงศรี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
เวลาเปิดบริการ
เปิดบริการทุกวัน 24 ชั่วโมง

ศิริราชไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5

ศิริราชไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5

วันนี้ (14 ม.ค. 2562) เวลา 14.00 น. รองศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเเนะนำวิธีป้องกันโดยการใช้หน้ากากอนามัย N95 อย่างถูกวิธี ณ ห้องประชุมคณะ ฯ ชั้น 3 รพ.ศิริราช

PM2.5 คืออะไร
PM2.5 คืออนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่าง ๆ เนื่องจาก “เจ้าตัวน้อย” นี้มีขนาดเล็ก แต่เมื่อแผ่รวมกันแล้วจะมีพื้นผิวรวมกันมากมหาศาล ทำให้มันสามารถนำพาสารต่าง ๆ ล่องลอยในบรรยากาศรอบตัวเราได้ในปริมาณสูง ทำให้เกิดเป็นหมอกควัน โดยตัวมันเองและสารหลายชนิดที่อยู่บนผิวของมัน ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ ตามที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญและส่งสัญญาณเตือนภัยมานานแล้ว 

เจ้าตัวน้อยนี้มาจากไหน 
แหล่งสำคัญของ PM2.5 ในบรรยากาศ คือ การเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์ และฝุ่นจากการก่อสร้าง ซึ่งจะมีการผลิตขึ้นใหม่ในทุกวัน แต่มันจะสะสมได้ง่ายถ้ามีการผลิตมากขึ้นและฟุ้งกระจายออกไปได้น้อยลง ตัวอย่างคือ “เชียงใหม่” ในช่วงต้นปีของทุกปีที่มีการเผาพื้นที่เกษตรกรรมกันมาก และตัวเมืองมีภูเขาล้อมรอบจึงเป็นแอ่งกระทะที่ขังเจ้าตัวน้อยได้ง่าย แต่ใน “กรุงเทพ” ของเรา มีการผลิตอนุภาคนี้ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยเฉพาะจากยานพาหนะในท้องถนน แต่ในช่วงปลายปีถึงต้นปีจะเกิดสภาวะ “การตกตะกอน” เมื่ออุณหภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเร็วร่วมกับความชื้นสูงและลมอับ อีกทั้งการมีตึกสูงจำนวนมากทำให้ตัวเมืองเหมือนเป็นแอ่งกระทะกลาย ๆ เจ้าตัวน้อยจึงวนเวียนอยู่มากในช่วงกลางคืน แล้วค่อย ๆ จางหายไปเมื่อพระอาทิตย์ทำงานส่องสว่างเต็มที่ 

มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างไร
เนื่องจากขนาดที่เล็กของเจ้าตัวน้อย ทำให้เมื่อมันถูกมนุษย์สูดผ่านรวมเข้าไปกับลมหายใจ สามารถผ่านลงไปได้ลึกจนถึงถุงลมที่เป็นส่วนปลายสุดของปอดเราได้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อหลอดลมฝอย และถุงลมที่เราหวงแหนเป็นหนักหนา และด้วยคุณสมบัติขนาดจิ๋วจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า บางส่วนของมันจึงเล็ดรอดผ่านผนังถุงลมแล้วไชชอนผ่านเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสโลหิต และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายของเราได้ ความร้ายกาจของมันต่อปอดของเรา เป็นผลจากการกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ลดระบบแอนตี้ออกซิแดนท์ รบกวนดุลแคลเซียมจนทำให้เกิดการอักเสบ และกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบ ซึ่งเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อของตัวเราเอง จนเกิดผลร้ายที่สาคัญ 3 ประการคือ
1. ทำให้คนที่มีโรคระบบการหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ ทั้งโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคหืด และ โรคถุงลมโป่งพอง 
2. ทำให้คนที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 
3. ในระยะยาวส่งผลให้การทำงานของปอดถดถอย จนอาจทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองได้แม้จะไม่สูบบุหรี่ก็ตาม และอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปอดได้เพิ่มขึ้น 

มีคำแนะนำในการลดปริมาณ “เจ้าวายร้ายตัวน้อย” ในบรรยากาศได้อย่างไร 
พวกเราเหล่า “ประชารัฐ” สามารถร่วมไม้ร่วมมือควบคุมแหล่งกำเนิดของมันได้โดย 
1. ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ 
2. ใช้เครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์มากที่สุด และมีเครื่องมือดักจับอนุภาคที่หลงเหลือไม่ให้กระจายตัวออกมา 
3. ควบคุมกระบวนการก่อสร้างให้มีฝุ่นน้อยที่สุด รื้อถอนและทำลายสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช้งานแล้วอย่างถูกวิธี 
4. หลีกเลี่ยงการเผาป่า เผาพื้นที่เพื่อเตรียมการทำเกษตรกรรม เผาขยะและวัสดุเหลือใช้ 

แล้วคนทั่วไปจะสามารถป้องกันตนเองได้อย่างไร 
ช่วงที่มีค่า PM2.5 ในอากาศสูงเกินค่าปกติขององค์การอนามัยโลก คือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ของกรมควบคุมมลพิษ เรายังใช้ที่ค่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบการหายใจหรือโรคหัวใจเรื้อรังไม่ควรออกนอกบ้าน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็นต้องเดินทางไปในที่สาธารณะ ให้ใส่หน้ากากพิเศษชนิดที่เรียกว่า “เอ็นเก้าสิบห้า” ซึ่งสามารถดักจับอนุภาคขนาดจิ๋วได้ถึง 0.3 ไมโครเมตร โดยต้องสวมให้ถูกต้องอย่างกระชับกับรูปหน้า สาหรับคนทั่วไปที่จำเป็นต้องออกนอกบ้านให้อย่างน้อยใส่ “หน้ากากอนามัย” ที่ยังพอกรองอนุภาคขนาดประมาณ 2-3 ไมโครเมตรได้ โดยต้องใส่ให้ถูกต้องเช่นกัน คือ หันด้านที่เป็นสีเขียวและเป็นมันกว่าออกด้านนอก และให้ส่วนที่มีแผ่นเสริมความแข็งแรงและช่วยการเข้ารูปอยู่ด้านบนของจมูก 

คืนอากาศบริสุทธิ์ให้พวกเราสูดหายใจ ควบคุมตัวร้าย PM2.5 ไม่ให้เกินมาตรฐาน
 


แหล่งข้อมูล: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

22 ก.พ. 2562      3,695
แชร์บทความ:  
  

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ